ปอดบวมอันตรายไหม? โรคที่มาพร้อมลมฝน
ปอดอักเสบ หรือ ปอดบวมอันตรายไหม ? เพราะโรคนี้ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่มักจะพบเจอในช่วงใกล้เปลี่ยนฤดูหรือฤดูฝนที่หลายคนอาจกังวลใจอยู่ บางคนยังไม่รู้ว่าปอดบวมเกิดจากอะไรและมีอาการเป็นอย่างไรจึงไม่ได้เข้าการรักษาได้อย่างทันท่วงทีทำให้อาจจะก่อให้เกิดอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่หากคุณรู้ถึงสาเหตุและอาการของโรคแล้วก็จะสามารถเข้ารับการรักษาเบื้องต้นก่อนทำให้อาการทุเลาลงได้ ฉะนั้นแล้วมาทำความรู้จักโรคนี้กันให้มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายกัน
ปอดบวมอันตรายไหม เกิดจากสาเหตุอะไร
ปอดบวม เกิดจากการที่ปอดติดเชื้อซึ่งมีรายงานว่าส่วนใหญ่ในฤดูฝนจะพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำโรคอย่างผู้ที่เคยมีอาการอีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ ต่อมทอนซิลอักเสบ หัด หรือไอกรนอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคปอดบวมยังมีโอกาสติดเชื้อและเสี่ยงต่อการเป็นโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น ปอดแฟบ ฝีในปอด มีหนองในช่องหุ้มปอด เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ฯลฯ ยิ่งหากพบในผู้สูงอายุหรือเด็กหรือจะยิ่งก่อให้เกิดอาการร้ายแรงตามมาได้เพราะในปี 2563 องค์การอนามัยโลกได้เปิดเผยว่ามีเด็กเสียชีวิตจากโรคนี้มากถึง 800,000 คนต่อปี
สาเหตุหลักของการเกิดโรคปอดบวม มีดังนี้
- การติดเชื้อจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี
- การติดเชื้อจากเชื้อราสำหรับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำโรค อย่างเช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคไตวาย
- ติดเชื้อจากไวรัสที่ส่วนใหญ่มักจะพบเจอในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
- การสำลักอาหารทำให้สารเคมีอาจเข้าไปในปอด
- การฉีดยาให้น้ำเกลือหรือมีอวัยวะส่วนอื่นในร่างกายอักเสบ อาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปตามกระแสเลือดทำให้เกิดอาการปอดบวมขึ้นได้
ทั่วไปแล้ว ปอดบวมมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ ‘ปอดบวมด้านหลัง’ กับ ‘ปอดบวมทั่วปอด’ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นปอดบวมด้านหลังอาจสงสัยได้ว่าติดเชื้อจากกระแสเลือดและปอดจะดูขาวกว่าปกติทางด้านหลังเยื้องมาด้านขวาของลำตัว ซึ่งประเภทจะตอบสนองกับยาปฏิชีวนะได้อย่างดีและสามารถกลับบ้านไปเร็ว ส่วนปอดบวมท่วมปอดนั้นจะมีลักษณะเป็นจุดสีขาว ๆ กระจายอยู่ทั่วปอดที่อาจเกิดได้จากการติดเชื้อในกระแสเลือดนั่นเอง
ปอดบวมอันตรายไหม อาการเป็นยังไง?
ปอดบวมอันตรายไหม? ปัจจุบันโรคนี้มีวัคซีนและยารักษาที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากร่างกายอ่อนแอก็สามารถกลับมาเป็นอีกได้เช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วหนุ่มสาวทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรงมีโอกาสหายและกลับมาเป็นปกติได้ แต่สำหรับผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวก็อาจเกิดอาการร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา มาดูกันว่าผู้ที่เป็นโรคนี้มีอาการอย่างไรบ้างเพื่อรู้ให้ทันและรักษาได้อย่างทันเวลา
- ไข้ขึ้นสูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส โดยในระยะแรกที่เริ่มเป็นอาจมีอาการจับไข้ทำให้หนาวสั่นตลอดเวลา
- มีอาการไอแห้ง
- เจ็บหน้าอกแปล๊บเวลาหายใจเข้าหรือเวลาไอแรง ๆ
- มีอาการหอบ หายใจลำบากทำ ให้หายใจเร็วแบบถี่ ๆ
- หน้าและริมฝีปากแดง
- ลิ้นเป็นฝ้า
- สำหรับเด็ก อาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง หากขั้นรุนแรงอาจตัวเขียว ลิ้นเขียว และเล็บเขียวได้
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
โรคปอดบวมจะอันตรายมาก ๆ ก็ต่อเมื่อปอดมีการติดเชื้อในกระแสเลือดและอักเสบขั้นรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออยู่หรือกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กและผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือมีไข้สูงนานต่อเนื่องเกิน 37.5 เซลเซียส หากได้รับการรักษาช้าก็อาจจะก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นได้
อาการภาวะแทรกซ้อนในปอดบวม
ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือผู้สูงอายุและเด็ก เมื่อเป็นโรคปอดบวมแล้วก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้มีโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วยได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- การหายใจลำบากขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หากเป็นปอดบวมขั้นรุนแรงอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้
- หลอดลมพอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ
- มีของเหลวสะสมรอบปอด เรียกว่าน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด
- การติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ส่งผลให้อาจเกิดอาการอักเสบที่เยื่อหุ้มสมอง ข้ออักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้
- โรคฝีในปอด หากติดเชื้ออย่างรุนแรงก็มีโอกาสที่จะเกิดฝีในปอดขึ้นได้
ปอดบวม รักษาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง
ปอดบวม คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจคล้าย ๆ กับโรคไข้หวัดทั่วไป เหมือนกับไข้เลือดออกที่มาพร้อมหน้าฝน ดังนั้นแล้วการรักษาหรือการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคนี้ได้นั้นคุณก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้ติดเชื้อนั้น ยกตัวอย่างได้ดังนี้
- ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะหรือพื้นที่ที่มีผู้คนแออัดเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
- ล้างมือบ่อย ๆ ทั้งจากสบู่ล้างมือและแอลกอฮอล์ล้างมือ
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ
- รับประทานที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการและอาหารเสริมสุขภาพในปริมาณที่พอดี
- ห้ามฉีดยาด้วยเข็มหรือกระบอกฉีดยาที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
- ห้ามอมน้ำมันก๊าดและเก็บให้พ้นมือเด็ก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพื่อปกป้องไม่ให้เป็นโรคปอดเรื้อรัง
- เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปีควรระวังไม่ให้สำลักและดูแลไม่ให้นำของเล่นเข้าปาก
- หากเป็นไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใส หรือหัด ควรรักษาตัวให้ดี และหากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ทันที
วิธีรักษาเมื่อเป็นโรคปอดบวม
หากคุณได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าเป็นโรคปอดบวม มีวิธีรักษาและดูแล ดังนี้
- รักษาตามอาการทั่วไป เช่น การให้ยาลดไข้หรือให้ออกซิเจนตามอาการของผู้ป่วย
- หากมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวและดื่มน้ำให้มาก จากนั้นหากไข้ลดลงแล้วควรใช้ยาปฏิชีวนะอีก 1 สัปดาห์ ถ้าไม่ดีขึ้นควรกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
- ใช้ยาละลายเสมหะเพื่อลดอาการไอ
- หากติดปอดบวมจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักจะหายเองได้ใน 1-3 สัปดาห์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อดูอาการ
- หากติดปอดบวมจากเชื้อแบคทีเรีย จะได้รับการรักษาโดนให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน เป็นต้น
ถ้าเกิดผู้ป่วยมีอาการหอบอาจสงสัยได้ว่าจะมีโรคแทรกซ้อนควรนำส่งโรงพยาบาลทันที โดยแพทย์จะทำการรักษาด้วยการเอกซเรย์ปอดพร้อมกับตรวจเสมหะหาเชื้อที่เป็นต้นเหตุ จากนั้นแพทย์จะให้การรักษาโดยออกซิเจน น้ำเกลือ และยาปฏิชีวนะทันที ซึ่งอาการหอบนั้นสังเกตได้จากการหายใจเร็ว (การหายใจเข้า-ออกนับเป็น 1 ครั้ง) โดยเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน หากหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที เรียกว่าหายใจเร็ว หรือ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที และ เด็กอายุ 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที จะถือว่าหายใจเร็ว
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
หากคุณสงสัยว่าจะมีอาการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยอาการก่อน และที่สำคัญควรจดจำรายละเอียดและเตรียมตัวตอบคำถามจากแพทย์ไว้ด้วยเพื่อให้การรักษาตรงจุดมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่ควรเตรียมตัวก่อนพบแพทย์นั้นควรมี ดังนี้
- หากเคยมีประวัติ X-Ray ปอดหรือรักษาโรคที่เกี่ยวกับปอด ให้นำรายการเหล่านี้ไปพบแพทย์ด้วย
- สังเกตว่าตัวเองเริ่มมีอาการตั้งแต่เมื่อไหร่
- เคยสัมผัสกับผู้ป่วยปอดบวมจากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือโรงเรียนหรือไม่
- ผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนปอดบวมมาก่อนหรือไม่
- เคยเป็นโรคปอดบวมมาก่อนหรือไม่ หากเคยเป็นได้รับการรักษาอย่างไรบ้าง
หลังจากที่แพทย์ซักประวัติผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว แพทย์ก็จะทำการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยอาการเพิ่มเติม ซึ่งสิ่งที่แพทย์จะตรวจนั้นโดยทั่วไปแล้วมีดังต่อไปนี้
- ตรวจด้วยการถ่ายภาพจากรังสีเอ็กซ์ (Chest X-Ray)
- เจาะตรวจเลือด
- ตรวจวัดความอิ่มตัวออกซิเจนของฮีโมโกลบินจากชีพจร
- ตรวจเสมหะ
- ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอาการรุนแรง)
- ผู้ป่วยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องเพาะเชื้อจากของเหลวในเยื่อหุ้มปอดหรือส่องกล้องผ่านหลอดลม
วัคซีนที่สามารถฉีดเพื่อป้องกันโรคปอดบวม
ปอดบวม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ดังนั้นการฉีดวัคซีนบางชนิดจึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคปอดบวมจากเชื้อบางชนิดได้ ซึ่งก็คือ
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ : สามารถฉีดได้ตั้งแต่ผู้ที่มีอายุ 6 เดือน – 5 ปี และผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปี ขึ้นไป
- วัคซีนป้องกันโรคฮิบ : สามารถฉีดได้ตั้งแต่ในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี หรือหากผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องควรฉีดตั้งแต่อายุ 2 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะฉีดกันในปริมาณ 2-3 เข็ม
- วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส : เด็อายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป สามารถฉีดวัคซีนตัวนี้ได้โดยเชื้อตัวนี้จะเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคปอดบวมและพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปก็สามารถฉีดได้ด้วยเช่นกัน
ทีนี้หลายคนก็คงจะพอรู้แล้วว่าปอดบวมเกิดจากเชื้อโรคและไวรัสต่าง ๆ ที่อยู่ตามอากาศทั่วไป ผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวมีโอกาสเกิดโรคนี้และอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงต่อร่างกายได้ แต่เราก็สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้เช่นกัน ฉะนั้นแล้วอย่าลืมล้างมือบ่อย ๆ ออกกำลังกายดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพียงเท่านี้โอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายของเราก็มีน้อยลงแล้ว
อ้างอิง :
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/pneumonia/